project-zaa
Letters From Iwo Jima จดหมายจากอิโวจิมายุทธภูมิสู้แค่ตาย
Letters From Iwo Jima (จดหมายจากอิโวจิมายุทธภูมิสู้แค่ตาย) 2006
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Letters from Iwo Jima
ชื่อภาษาไทย : จดหมายจากอิโวจิมา ยุทธภูมิสู้แค่ตาย
ผู้สร้าง : Clint Eastwood , Paul Haggis , Steven Spielberg , Robert Lorenz
ผู้กำกำกับ : Clint Eastwood
ผู้เขียนบท : Iris Yamashita , Paul Haggis
ผู้แสดง : Ken Watanabe , Kazunari Ninomiya , Tsuyoshi Ihara , Ryo Kase ,
Shidou Nakamura
Letters from Iwo Jima เมื่อฝรั่งสร้างหนังญี่ปุ่นได้น่าประทับใจ
เป็นเรื่องปกติที่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สงครามแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะแนวแอคชั่นของฮอลลีวู้ด ที่จะถูกสงสัยว่าได้ให้ความเป็นธรรมกับประเทศคู่สงครามเพียงใด เมื่อ Clint Eastwood ได้สร้างเรื่อง Flags of our Fathers ของหนังสือชื่อเดียวกันของ James Bradley นั้น ภาพยนตร์ได้ออกมาในแนวดรามา หรือชีวิตความยากลำบากของฝ่ายอเมริกันในสงครามที่เกาะอิโวจิมา ที่จริงก็ไม่ได้กล่าวถึงฝ่ายญี่ปุ่นในทางที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด แม้กระนั้น ด้วยความใจกว้างของคุณปู่คลินท์เอง ความแปลกประหลาดของวงการฮอลลีวู้ดก็บังเกิดขึ้น เมื่อพระเอกฝรั่งรุ่นปู่ท่านนี้ได้วางโปรเจคท์สร้างภาพยนตร์สงครามอีกเรื่องขึ้นมาควบคู่กับ Flags of our Fathers เป็นเรื่องเกี่ยวกับยุทธภูมิที่อิโวจิมาเช่นกัน ในมุมมองของทางฝ่ายญี่ปุ่น ใช้ดาราญี่ปุ่น และพูดภาษาญี่ปุ่นตลอดทั้งเรื่อง แม้แต่ในฉบับ DVD ก็มีแต่ Soundtrack ภาษาญี่ปุ่น ใครอยากดูรู้เรื่องก็ต้องเลือกซับไตเติลภาษาของตัวเองเอา เรียกได้ว่าถ้าพวกมนุษย์ตกข่าวหลังเขามาดูเข้าต้องนึกว่าเป็นหนังญี่ปุ่นแท้ๆ เอาเลย (แต่ในวีซีดีมีพาย์ไทยนะครับ) นั่นคือเรื่อง Letters from Iwo Jima ที่เราจะมาคุยกันในวันนี้
เรื่องเริ่มฉากแรกในปี 2005 (พ.ศ.2548) เมื่อคณะนักโบราณคดีญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามาสำรวจถ้ำในเขาแห่งหนึ่งบนเกาะ Iwo Jima ที่ซึ่งทหารญี่ปุ่นเคยใช้เป็นฐานในการต่อสู้กับทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อคณะสำรวจพบสิ่งผิดปกติที่พื้นถ้ำบริเวณหนึ่งและพยายามจะขุด หนังก็ย้อนกระโดดกลับไปยังช่วงปี 1944 (พ.ศ.2487) Saigo พลทหารญี่ปุ่นหน้าเด็กรายหนึ่ง ทราบภายหลังว่าเป็นคนทำขนมปังที่ถูกเกณฑ์มารบ กำลังขุดสนามเพลาะบนชายหาดของเกาะอิโวจิมา ระหว่างที่ขุดอยู่นั้นก็แอบบ่นไปต่างๆ นานา แต่ก็ไม่รอดพ้นจากการได้ยินของผู้กอง Tanida ไปได้ ขณะนั้นพอดีจังหวะที่นายพลโทคูริบายาชิ (Lieutenant General Tadamichi Kuribayashi) เดินทางมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบนเกาะ และเดินสำรวจเกาะกับคณะนายทหารจนมาพบผู้กองทานิดะกำลังใช้ไม้เฆี่ยนตีซาอิโกะกับเพื่อนอยู่พอดี จึงสั่งห้ามและให้ผู้กองลงโทษวิธีอื่นแทน และสั่งยกเลิกการขุดสนามเพลาะชายหาดโดยสิ้นเชิง
นายพลคูริบายาชิ กับ พันโทนิชิ ก่อนเกาะอิโวจิมาถูกโจมตี
การมาของนายพลคูริบายาชิ สร้างความประทับใจให้กับซาอิโกะอย่างมาก แต่กับนายทหารที่จะต้องทำงานด้วยกันแล้ว ได้เกิดความขัดแย้งกับท่านนายพลเรื่องแนวคิดในการป้องกันเกาะ ซึ่งนายทหารส่วนใหญ่เห็นว่าควรสร้างแนวป้องกันที่ชายหาดเพื่อสกัดการบุกของทหารอเมริกันตั้งแต่แรก แต่นายพลคูริบายาชิซึ่งเคยศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เห็นว่าแสนยานุภาพของฝ่ายอเมริกันน่าจะมีมากพอที่จะทำลายแนวป้องกันของญี่ปุ่นได้ในเวลาอันสั้น และฝ่ายญี่ปุ่นจะไม่มีกองเรือรบมาสนับสนุนตามที่หน่วยเหนือสัญญาเนื่องจากสูญเสียไปแล้วจากการรบครั้งก่อนๆ ท่านนายพลจึงสั่งให้ทหารขุดอุโมงค์ในภูเขาซึ่งจะต้านทานการโจมตีได้ดีกว่าสนามเพลาะที่ชายหาด บรรดานายทหารต้องทำตามอย่างเสียไม่ได้ ยังดีที่ความขัดแย้งนี้ไม่ได้บานปลายจนเป็นอุปสรรคกับการทำงาน ระหว่างเตรียมการตั้งรับนี้มีการเปิดตัวละครสำคัญอีกสองตัว คือ พันโทนิชิ (Lieutenant Colonel Takeichi Nishi) ผู้บังคับการหน่วยรถถังที่ปราศจากอะไหล่จนต้องเอามาตั้งวางเหมือนป้อมปืนขนาดย่อม กับชิมิสึ ทหารใหม่ในกองร้อยของซาอิโกะ อดีตทหารในหน่วย Kempeitai (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "สารวัตรทหาร" ก็แล้วกันครับ แม้ว่าในรายละเอียดทหารหน่วยนี้อาจมีอะไรต่างจากสารวัตรทหารที่เราคุ้นเคยบ้างก็ตาม) ที่ถูกปลดเพราะขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผู้พันนิชิเป็นทั้งนักเรียนนอกและอดีตนักกีฬาขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางระดับเหรียญทองโอลิมปิคปี 1932 (พ.ศ.2478) ที่มาเป็นคู่คิดของท่านนายพลคูริบายาชิ (แต่ในวิกิบอกว่าในประวัติศาสตร์ทั้งสองไม่ค่อยถูกกัน) ส่วนชิมิสึความที่เป็นอดีตสารวัตรทหาร และบุคลิกที่เงียบขรึม ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ทำให้ถูกระแวงว่าเป็นสายของหน่วยเหนือ
ชิมิสึ (ซ้าย) กับ ซาอิโกะ (ขวา) ขณะนั่งพักในอุโมงค์
หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพสหรัฐฯ ก็เริ่มโจมตีอิโวจิมาทางอากาศ ทำให้บรรดาทหารญี่ปุ่นต้องหมกตัวกันอยู่แต่ในถ้ำและอุโมงค์ที่สร้างขึ้นมา ไม่กี่วันถัดมาก็เริ่มการยกพลขึ้นบก (ตามประวัติศาสตร์คือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1945/พ.ศ.2488) รบกันจนถึงวันที่ 26 มีนาคม) นายพลคูริบายาชิสั่งให้ทหารรอจนทหารอเมริกันขึ้นมาเต็มชายหาดจึงเริ่มเปิดฉากการยิง หลังจากปะทะกันดุเดือด สิ่งที่ท่านนายพลคาดการณ์ไว้ไม่ผิด คือบรรดารังปืนกลที่พวกนายทหารขอต่อรองสร้างไว้ตามชายหาดบ้างถูกทหารอเมริกันกวาดล้างไปได้ในเวลาไม่นาน ส่วนกองกำลังที่ขุดอุโมงค์ในเขาซูริบาชิสามารถต้านทานข้าศึกได้นานกว่า แต่ในที่สุดด้วยกำลังพลและกระสุนปืนที่ร่อยหรอ พันเอกอาดาชิผู้บัญชาการกองกำลังที่เขาซูริบาชิได้ตัดสินใจสั่งให้ทหารสละชีพโดยไม่สนใจคำสั่งนายพลคูริบายชิที่ให้ถอนกำลังไปช่วยป้องกันที่มั่นอื่นทางเหนือ กองร้อยของผู้กองทานิดะพากันฆ่าตัวตายด้วยลูกระเบิดอย่างสยดสยอง เหลือแต่ซาอิโกะกับชิมิสึ ที่มีการถกเถียงกันเล็กน้อยก่อนจะพากันหนีไปสมทบกับกองร้อยของผู้กองอิโตะ เรื่องต่อจากนี้ขออนุญาตไม่เล่าละเอียดนะครับ ขอให้ชมจากภาพยนตร์เอาเอง โดยสรุปคือ ฝ่ายญี่ปุ่นสามารถต้านทานทหารสหรัฐฯ ไว้ได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องประสบความพ่ายแพ้ ผู้พันนิชิได้รับบาดเจ็บจนตาบอดและฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา ผู้กองอิโตะพยายามนำทุ่นระเบิดไปดักทำลายรถถัง แต่ไม่สำเร็จและถูกจับเป็นเชลย ชิมิสึหนีไปยอมจำนนกับทหารอเมริกันในคืนหนึ่ง แต่ถูกทหารที่เฝ้ายิงเสียชีวิต นายพลคูริบายาชินำกำลังทหารที่พอมีเหลือเข้าปะทะข้าศึกแบบพลีชีพจนตายกันทั้งหมด ส่วนซาอิโกะรอดตายเนื่องจากท่านนายพลหลอกใช้ให้ทำหน้าที่ทำลายเอกสารในขณะที่ท่านนำทหารออกรบ โดยซาอิโกะไม่ได้ทำลายจริงๆ เพียงแต่นำเอกสารและจดหมายที่ทุกคนเขียนไว้ไปฝังที่พื้นในอุโมงค์แห่งหนึ่ง และต่อมาได้ถูกจับเป็นเชลย แล้วภาพยนตร์ก็ตัดกลับมาปี 2005 ที่นักโบราณคดีขุดพบเอกสารและจดหมายของบรรดาทหารที่ซาอิโกะฝังไว้นั่นเอง
การดำเนินเรื่องของ Letters from Iwo Jima เข้าใจง่ายกว่า Flags of our Fathers และดูมีรสมีชาติกว่า สงครามโหดโอกินาวา ของบริษัทโตโฮที่เคยนำเสนอมาแล้ว แนวคิดหลักของเรื่องนี้คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์การต่อสู้จนตัวตาย ที่ตัวละครทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยึดถือ กับปัญหาความเป็นมนุษย์ ดังเช่นความรักตัวกลัวตายเยี่ยงปุถุชนของซาอิโกะและชิมิสึ กับความเป็นผู้นำทางทหารของผู้บัญชาการที่เป็นนักเรียนนอกอย่างนายพลคูริบายาชิ และพันโทนิชิ ซึ่งความจริงไม่ได้ปฏิเสธการสละชีพโดยสิ้นเชิง แต่ได้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์และหลักทางยุทธวิธีด้วย จะเห็นได้จากการที่ท่านนายพลช่วยซาอิโกะจากการลงโทษอย่างดุดันของผู้กองทานิดะ และผู้กองอิโตะ การออกคำสั่งให้ทหารที่รอดจากเขาซูริบาชิถอนกำลังไปช่วยป้องกันที่มั่นอื่นแทนการสละชีพ (ซึ่งถูกปฏิเสธในที่สุด) การที่ผู้พันนิชินำเชลยศึกอเมริกันชื่อแซมเข้ามารักษาในถ้ำและพูดคุยอย่างเป็นมิตร แต่ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตแซมไว้ได้ และท้ายที่สุดนายทหารทั้งสองก็ต้องสละชีวิตของตนเช่นกัน ส่วนรายที่จะว่าน่าสงสารหรือน่าสมเพชก็แล้วแต่มุมมองคือกรณีที่ผู้กองอิโตะ อุตส่าลงทุนเอาทุ่นระเบิดติดตัว เอาเลือดทหารมาทาหน้าตาเพื่อแกล้งทำเป็นตาย แล้วหวังจะให้รถถังข้าศึกมาทับแล้วระเบิดตายไปด้วยกัน จนแล้วจนรอดก็ไม่มีรถถังอเมริกันคันไหนซุ่มซ่ามมาทับ สุดท้ายต้องเซ็งกับการมีชีวิตต่อในฐานะเชลย คล้ายผู้เขียนจะบอกว่าอุดมการณ์พลีชีพนี้มันขัดกับความเป็นจริงของชีวิตที่บางทีกำหนดอะไรไม่ได้ เช่นอยากตายก็ไม่ได้ตายถ้ายังไม่ถึงเวลา
Post a Comment